วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประวัติวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

รามเกียรติ์
รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดีย คือมหากาพย์รามายณะที่ฤๅษีวาลมีกิ[1] ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ[2] เชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ฮินดู
สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น โดยได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยใช้ฉบับของอินเดีย (รามายณะ) มาพระราชนิพนธ์ ใช้ชื่อว่า "บ่อเกิดรามเกียรติ์"

ประวัติ
ต้นเค้าของเรื่องรามเกียรติ์น่าจะมาจากเรื่องรามยณะ ของอินเดีย ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวอินเดียได้นำอารยธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้เรื่องรามยณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป ดังปรากฏในหลายๆชาติ เช่น ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนมีวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีประจำชาติทั้งสิ้น
โครงเรื่อง
เหตุเกิดเมื่อนนทกไปเกิดใหม่เป็นทศกัณฐ์มีสิบหน้ายี่สิบมือตามคำพระนารายณ์ก่อนนั้นเมื่อพระนารายณ์สังหารนนทกแล้ว ได้ไปขอพระอิศวรจะให้เหล่าเทวดา และตนไปตามสังหารนนทกในชาติหน้า หลังจากนั้น ทหารเอกทั้งห้า จึงเกิดตามกันไป ได้แก่ หนุมานเกิดจากเหล่าศาสตราวุธของพระอิศวรไปอยู่ในครรภ์นางสวาหะ สุครีพ เกิดจากพระอาทิตย์แล้วโดนคำสาปฤๅษีที่เป็นพ่อของนางสวาหะ องคต เป็นลูกของพาลีที่เป็นพี่ของสุครีพ ชมพูพาน เกิดจากการชุบเลี้ยงของพระอินทร์ นิลพัท เป็นลูกของพระกาฬ ฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฐ์ได้เกิดศึกชิงนางสีดา จนไพล่พลฝ่ายยักษ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก และสุดท้าย ทศกัณฐ์เองก็ถูกพระรามฆ่าตายเช่นเดียวกัน
เรื่องย่อรามเกียรติ์
ท้าวทศรถ เป็นกษัตริย์ครองกรุงอยุธยา มีพระมเหสี ๓ องค์ คือ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี และนางสมุทรเทวี วันหนึ่งท้าวทศรถไปรบกับยักษ์ชื่อ ปทูตทันต์ โดยนางไกยเกษีตามเสด็จไปด้วย ขณะรบกันยักษ์แผลงศรไปถูกเพลารถของท้าวทศรถหัก นางไกยเกษีรีบกระโดดลงจากรถ เอาแขนของนางสอดแทนเพลารถ เมื่อท้าวทศรถฆ่ายักษ์ได้แล้ว ได้ทรงทราบถึงความจงรักภักดีของนางไกยเกษี จึงประทานพรว่าหากนางปรารถนาสิ่งใด พระองค์ก็จะประทานให้
ท้าวทศรถครองราชย์สมบัติมานานลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอรสจึงทำพิธีกวนข้าวทิพย์ กลิ่นข้าวทิพย์หอมไปถึง กรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงใช้ให้ นางยักษ์กากนาสูรมาขโมย นางแปลงร่างมาเป็นอีกา โฉบเอาข่าวทิพย์ไปได้เพียงครึ่งก้อน ทศกัณฐ์นำข้าวทิพย์ให้นางมณโฑ ผู้เป็นมเหสีกิน นางจึงตั้งครรภ์และประสูติพระธิดาออกมา แต่ขณะที่ประสูตินั้นพระธิดาร้องว่า ผลาญราพณ์ขึ้น ๓ ครั้ง พิเภกและโหรอื่นๆ ทำนายว่ากาลีบ้านกาลีเมือง ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำพระธิดาผู้นั้นใส่ในผอบ ลอยน้ำไป พระฤๅษีชนกซึ่งเดิมเป็นราชาแห่งเมืองมิถิลามาพบเข้า ก็เก็บไปฝั่งดินฝากแม่ธรณีไว้จนเวลาล่างไปถึง ๑๖ ปี จึงไปขุดนางขึ้นมา แล้วจึงตั้งชื่อว่า สีดา แล้วกลับไปครองเมืองเมืองมิถิลาเช่นเดิม และได้จัดพิธียกศรเพื่อหาคู่ครองให้นางสีดา พระรามยกศรได้ จึงได้อภิเษกกับนางสีดา และพานางกลับไปอยู่ที่กรุงอยุธยา
ส่วนข้าวทิพย์ที่เหลือสามก้อนครึ่ง ท้าวทศรถแบ่งให้พระมเหสีทั้งสาม ซึ่งต่อมานางตั้งครรภ์ และให้กำเนิดโอรส คือ นางเกาสุริยา ประสูติพระราม นางไกยเกษี ประสูติพระพรต และนางสมุทรเทวี ประสูติพระลักษณ์ กับพระสัตรุด ต่อมา ท้าวทศรถคิดจะยกราชสมบัติให้พระรามปกครอง แต่นางไกยเกษีทูลขอเมืองอยุธยาให้พระพรตโอรสของตน และขอให้พระรามออกเดินป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี ท้าวทศรถเคยประทานพรให้นางไว้จึงจำต้องรักษาวาจาสัตย์พระรามก็ยินยอมออกจากเมืองโดยดี ซึ่งพระลักษณ์กับนางสีดาขอเสด็จตามไปด้วย ท้าวทศรถเสียพระทัยมากจนกระทั่งสิ้นพระชนม์
พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา ไปตั้งอาศรมอยู่ในป่า วันหนึ่งนางสำมนักขา น้องสาวของทศกัณฐ์ออกไปเที่ยวป่า ได้พบพระรามเข้า เห็นพระรามมีรูปโฉมงดงามก็หลงรัก เข้าไปเกี้ยวพาราสีพระราม และทำร้ายนางสีดา พระลักษณ์โกรธมาก จับนางมา ตัดหู ตัดจมูก ตัดมือ และเท้า แล้วปล่อยตัวไป นางกลับไปฟ้องพี่ชายทั้งสาม คือ ทูษณ์ ขร และตรีเศียร ให้ไปรบกับพระราม แต่ก็ถูกพระรามฆ่าตาย นางจึงไปเล่าถึงความงดงามของนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟัง ทศกัณฐ์อยากได้นางมาเป็นชายา จึงออกอุบายให้มารีศแปลงตัวเป็นกวางทองมาล่อ นางสีดาเห็นกวางทองเข้าก็อยากได้ ขอให้พระรามไปจับไม่ได้ พอมารีศถูกศรของพระรามก็แกล้งทำเสียงพระรามร้องให้ช่วย นางสีดาจึงขอให้พระลักษณ์ตามไป ทศกัณฐ์ได้ราม พระโอกาสจึงเข้ามาลักพานางสีดาไปกรุงลงกา พระราม พระลักษณ์ เสด็จออกติดตามหานางด้วยความห่วงใย จนได้พบกับหนุมานและสุครีพ สุครีพ ขอให้พระรามฆ่าพาลีผู้เป็นพี่ชายของตนเสียก่อน ตนจึงจะช่วยทำสงครามกับทศกัณฐ์ เนื่องจากสุครีพแค้นใจที่ครั้งหนึ่ง พระอินทร์ฝากผอบใส่นางดารามากับพาลี เพื่อเป็นรางวัลให้กับสุครีพที่ยกเขาพระสุเมรุให้ตั้งตรงได้ แต่ถูกพาลีริบไปเป็นของตน และครั้งสุดท้ายพาลีเข้าไปสู้รบกับความ ชื่อ ทรพี ในถ้ำ แล้วส่งสุครีพให้คอยดูอยู่ปากถ้ำ ถ้าเลือดที่ไหลออกมาข้นเป็นเลือดควาย ถ้าเลือดใสเป็นของตน ให้สุครีพปิดปากถ้ำเสีย สุครีพเฝ้าดูอยู่เห็นเลือดที่ไหลออกมาใส เพราะน้ำฝนชะจึงคิดว่าพาลีตาย จึงเอาหินปิดปากถ้ำ พาลีเข้าใจว่าสุครีพคิดฆ่าตน จึงขับไล่สุครีพออกจากเมือง พระรามจึงได้แผลงศรไปฆ่าพาลีตาย สุครีพจึงเกณฑ์ไพร่พลลิงมาช่วยพระรามรบ
คืนหนึ่งทศกัณฐ์ฝันร้าย พิเภกทำนายว่า ทศกัณฐ์ถึงคราวเคราะห์ให้ส่งนางสีดาคืนไปเสีย ทศกัณฐ์โกรธมาก ขับไล่พิเภกออกนอกเมือง พิเภกจึงเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระราม ช่วยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการทำสงครามแก่พระรามอยู่เสมอ
พระรามทำสงครามกับทศกัณฐ์อยู่นานหลายปี จนญาติพี่น้องของทศกัณฐ์ตามในสงครามกันหมด ทศกัณฐ์ต้องออกรบเอง พระรามแผลงศรถูกหลายครั้ง แต่ทศกัณฐ์ก็ไม่ตาย เพราะถอดดวงใจฝากฤๅษีโคบุตรไว้ หนุมานกับองคตจึงทูลรับอาสาพระรามไปหลอกเอากล่องดวงใจมาจนได้ ทศกัณฐ์ออกรบอีก พอพระรามแผลงศรไปปักอกทศกัณฐ์ หนุมานก็ขยี้กล่องดวงใจจนแหลกลาญ ทศกัณฐ์จึงสิ้นชีวิต จากนั้นพิเภกก็พานางสีดามาคืนให้พระราม และเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ นางสีดาจึงขอทำพิธีลุยไฟ ซึ่งนางสามารถเดินลุยไฟได้อย่างปลอดภัย พระรามตั้งให้พิเภกครองกรุงลงกา แล้วพระรามก็เสด็จกลับอยุธยาพร้อมด้วยนางสีดา และพระลักษณ์
ต่อมาปิศาจยักษ์ตนหนึ่งชื่อ นางอดูล ได้แปลงร่างเป็นสาวใช้ของนางสีดา ขอร้องให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ให้ดู พอดีพระรามเสด็จมา นางสีดาตกใจพยายามลบเท่าไรก็ลบไม่ออก จึงรีบซ่อนไว้ใต้ที่บรรทม ทำให้พระรามบรรทมไม่หลับ ต้องสั่งให้พระลักษมณ์มาค้นดู ก็ได้รูปของทศกัณฐ์ พระรามกริ้วมาก หาว่านางสีดามีใจรักทศกัณฐ์ สั่งให้พระลักษมณ์นำนาง ไปประหาร แต่พระลักษมณ์ปล่อยนางไป นางสีดาไปอาศัยอยู่กับฤๅษีตนหนึ่ง จนประสูติโอรสองค์หนึ่ง คือ พระมงกุฎ
วันหนึ่ง นางสีดาไปอาบน้ำที่ลำธาร เห็นลิงเอาลูกเกาะหน้าเกาะหลัง พาไปไหนมาไหนด้วย นางจึงกลับไปอุ้มโอรสที่ฝากพระฤๅษีเลี้ยงไว้มาด้วย เมื่อพระฤๅษีลืมตาขึ้นมาจากการบำเพ็ญตบะ ไม่เห็นพระมงกุฎ จึงชุบกุมารขึ้นอีกองค์หนึ่งชื่อว่า พระลบ นางสีดาจึงมีโอรสสององค์ พระฤๅษีได้สั่งสอนศิลปวิทยาให้กุมารทั้งสองจนเก่งกล้า
พระรามได้ทำพิธีปล่อยม้าอุปการ ม้าผ่านเข้าไปในป่า พระมงกุฎเห็นเข้าก็จับมาขี่เล่น พระพรตแผลงศรไปจับตัว พระมงกุฎได้ พระรามสั่งให้นำตัวไปประจานเจ็ดวัน แล้วให้ประหารเสีย แต่พระลบมาช่วยไปได้ พระรามออกรบด้วยตนเองแต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนกระทั่งรู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน พระรามไปอ้อนวอนนางสีดาให้กลับอยุธยา แต่นางสีดาไม่ยอม พระรามจึงทำอุบายว่าสิ้นพระชนม์ นางสีดาตกใจรีบกลับมาเยี่ยมพระศพ พระรามจึงออกมาจากโกศจับนางสีดาไว้ นางสีดา รู้ว่าถูกหลอก จึงอธิษฐานแทรกแผ่นดินหนีไปอยู่เมืองบาดาล พิเภกแนะนำพระรามออกเดินป่าอีกครั้งเพื่อเสดาะเคราะห์ พระรามจึงเสด็จไปพร้อมพระลักษมณ์ ได้ฆ่ายักษ์ตายอีกหลายตน ครั้งสุดท้ายพระรามได้สู้กับท้าวอุณาราช พระรามถอนต้นกกมาพาดสาย ยิงไปตรึงท้าวอุณาราชไว้กับแผ่นดิน แล้วจึงเสด็จกลับเข้ากรุงอยุธยา พระอิศวรสงสารพระรามจึงช่วยไกล่เกลี่ยให้นางสีดายอมคืนดีกับพระราม จากนั้นพระรามกับนางสีดาก็กลับมาครองกรุงอยุธยาอย่างมีความสุข
ตัวละครหลัก
ตัวละครหลักที่ปรากฏในเรื่อง มีดังนี้
ฝ่ายพระราม (มเหศรพงศ์ และ วานรพงศ์)
·         พระราม
·         พระลักษมณ์
·         พระพรต
·         พระสัตรุด
·         สีดา
·         หนุมาน
·         พาลี
·         สุครีพ
·         ชมพูพาน
·         องคต
·         มัจฉานุ
·         พิเภก
ฝ่ายทศกัณฐ์ และพันธมิตร (อสุรพงศ์)
·         ทศกัณฐ์
·         กุมภกรรณ
·         ไมยราพ
·         อินทรชิต
·         รามสูร
·         ทรพา ทรพี
·         นางมณโฑ
·         นางเบญกาย